ความเป็นมา

นับแต่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็น ของปวงชนชาวไทยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้บัญญัติให้มีรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ในวาระเริ่มแรกให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก จำนวน ๒๕๐ คน ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายสาขาอาชีพ มีบทบาทหน้าที่และอำนาจในด้านการพิจารณากฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบในกรณีสำคัญ ๆ เห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และหน้าที่อื่น ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ จึงนับได้ว่าวุฒิสภา เป็นองค์กรที่มีความสำคัญระดับชาติ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติ

ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้และทัศนคติที่ดีแก่ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป ได้เข้าใจอย่างถูกต้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมทั้ง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมือง เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา ส่งเสริมให้ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและกิจกรรมของวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจึงเห็นควรจัดให้มีโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖


วัตถุประสงค์
  • ๑. เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา
  • ๒. เพื่อสร้างเครือข่ายเข้มแข็งภาคประชาชนในการร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
  • ๓. เพื่อให้ผู้ผ่านการอบรม ได้นำความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา ไปเผยแพร่ขยายผลยังชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง